BIG 7 แห่ง

ป่าห้วยขาแข้ง

เรื่องและภาพ ช่อผกา วิจิตรตระกูลชัย

------------------------------

         ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่ฯ ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ มีการนำกล้องจำนวนมากไปดักถ่ายสัตว์ป่า ปีล่าสุดสถานีวิจัยฯ ตั้งกล้องดักถ่ายภาพทั่วพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกว่า 200 จุด แต่ละจุดใช้กล้อง 2 ตัวเพื่อให้ได้ลายทั้งด้านซ้ายและขวาของตัวเสือโคร่งสำหรับใช้จำแนกตัว

จุดตั้งกล้องหลายแห่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินเท้าเข้าไปพักแรมในป่า 3 คืน 5 คืน หรืออาจถึง 7 คืน

           แต่ละคนต้องเข้าป่าพร้อมเป้สัมภาระที่หนักว่า 20 กิโลกรัม มีทั้งเสบียง ของใช้ส่วนตัว กล้องดักถ่ายภาพ และบล็อกเพื่อป้องกันความเสียหายของตัวกล้องที่อาจเกิดจากความขี้เล่นของช้างป่า

           การเข้าไปพักแรมในป่า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุ ความบันเทิงอย่างเดียวที่ทำให้ทีมหัวเราะอย่างสนุกสนานคือเล่นตลกกันเอง ส่งมุกกันไปมา เพื่อไม่ให้แคมป์กลางป่าเงียบเกินไป แล้วค่อยแยกย้ายกันพักผ่อน เพื่อทำงานต่อในเช้าวันรุ่งขึ้น

    ทีมวิจัยจะนำภาพที่ได้จากการต้ังกล้องบันทึกมาคัดเลือกรูปเสือโคร่งเพื่อวิเคราะห์จำนวนประชากรในพื้นที่ศึกษา นอกจากนี้ กล้องถ่ายภาพยังบันทึกรูปสัตว์ป่าชนิดอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย สัตว์แต่ละชนิดล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทั้งสิ้น

    ในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สถานีวิจัยฯ ถ่ายภาพได้กว่า 40 ชนิด มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่เป็นสัญลักษณ์ของห้วยขาแข้ง 7 ชนิด ซึ่งถูกขนานนามว่า Big 7 ดังนี้ เสือโคร่ง เสือดาว/เสือดำ วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า กระทิง และช้างป่า

สัตว์เหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่พบในผืนป่าห้วยขาแข้ง ผืนป่ามรดกโลกที่เป็นบ้านของสัตว์ป่านานาชนิดเท่านั้น แต่ยังเป็นสัตว์ป่าที่เป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าห้วยขาแข้งด้วย

    สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้ง 7 ชนิดมีความต้องการเฉพาะตัวที่แตกต่างกัน ทั้งอาหาร ลักษณะที่อยู่อาศัย ช้างป่าอยู่รวมกันเป็นฝูง ส่วนสมเสร็จหรือและเสือโคร่งอาศัยอยู่ตัวเดียว แต่ทุกชนิดล้วนมีความสัมพันธ์กันในระบบนิเวศ

    เสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร สัตว์กีบที่เป็นเหยื่อหลักของเสือโคร่งในผืนป่าห้วยขาแข้ง คือเก้ง กวางป่า หมูป่า กระทิง และวัวแดง รวมถึงสัตว์กีบขนาดใหญ่อื่นๆ อย่าง สมเสร็จ ควายป่า และช้างป่า ที่เสือโคร่งล่าเป็นอาหารเช่นกัน

แต่ไม่ใช่เสือโคร่งทุกตัวจะล่าสัตว์ขนาดใหญ่เหล่านี้ได้สำเร็จ ไม่บ่อยนักที่เสือโคร่งตัวที่แข็งแรงจะล้มกระทิงตัวใหญ่ ควายป่าที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเสือโคร่งหลายเท่า หรือลูกช้างที่มีช้างตัวใหญ่ในฝูงคอยคุ้มกัน ลงได้

    สิ่งนี้เป็นตัวอย่างของการคัดเลือกพันธุกรรมโดยธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าเหยื่อของเสือโคร่งมีความหลากหลายมากกว่ากวางป่า และเนื่องจากเสือโคร่งเป็นสัตว์ผู้ล่าชั้นบนสุด และใช้พื้นที่อาศัยเป็นบริเวณกว้าง การรักษาและเพิ่มพูนประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติจึงหมายถึงการรักษาและเพิ่มพูนประชากรสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่ง และยังรวมไปถึงการรักษาพื้นที่ป่าผืนใหญ่ที่เป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่าของประเทศไทยอีกด้วย

การจัดการต้นทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อยกระดับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน จังหวัดอุทัยธานี

โดยทีมวิจัย : สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

------------------------------------

Copyright 2023 | All Rights Reserved

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy